พุทธมณฑลอีสาน ถิ่นฐานอารยธรรม ผ้าไหมล้ำเลอค่า ตักศิลานคร
จังหวัดมหาสารคาม เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีบรรยากาศของเมืองที่สงบเงียบ และเรียบง่ายตามแบบฉบับของเมืองอีสาน ปัจจุบันมีความสำคัญในฐานะเป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษาแห่งหนึ่งของภูมิภาค เนื่องจากมีสถาบันการศึกษาอยู่มากมาย จึงได้ชื่อว่าเป็น "ตักศิลาแห่งอีสาน"มหาสารคามมีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่โดดเด่นในด้าน ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และประเพณี และเนื่องจากยังมีความเจริญไม่มากนัก ผู้ที่มาเยี่ยมเยือนเมืองนี้จึงได้สัมผัสกับวิถีชีวิตชาวอีสานอันเรียบง่าย และบริสุทธิ์ เป็นเสน่ห์ที่นับวันจะหาได้ยากในสังคมเมืองปัจจุบัน |
มหาสารคามเป็น เมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเมืองหนึ่ง มีความเจริญรุ่งเรืองและเสื่อมโทรมหมุนเวียนไปในแต่ละยุคสมัย ปัจจุบันนับเป็นเมืองศูนย์รวมวัฒนธรรมของชาวอีสาน เนื่องจากชาวเมืองมีที่มาจากหลายชนเผ่า เช่น ชาวไทยพื้นเมืองที่พูดภาษาอีสาน ชาวไทยย้อ และชาวผู้ไทย ประชาชนใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย มีการไปมาหาสู่และช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกันตามแบบของคนอีสานทั่วไป
เดิม เมืองมหาสารคามมีชื่อว่า "บ้านลาดกุดยางใหญ่" ต่อมาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2408 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านลาดกุดยางใหญ่ขึ้นเป็น "เมืองมหาสารคาม" โดยแบ่งพื้นที่และย้ายพลเมืองมาจากเมืองร้อยเอ็ดที่อยู่ติดกันมาตั้งถิ่นฐาน อยู่ที่นี่ และโปรดเกล้าฯ ให้เมืองมหาสารคามขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2412 จนถึงปัจจุบัน
การเดินทาง
มหาสารคามอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 475 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดมหาสารคามได้ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัวและ รถประจำทาง
- โดยรถยนตร์:
จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 107 แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ไปจนถึงจังหวัดนครราชสีมา แยกใช้ทางหลวงหมายเลข 226 ถึงจังหวัดบุรีรัมย์ แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 219 ผ่านอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย อำเภอบรบือ และแยกใช้ทางหลวงหมายเลข 23 เข้าสู่จังหวัดมหาสารคาม - โดยรถประจำทาง:
มีรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-มหาสารคาม ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th ปัจจุบัน บริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com
การเดินทางภายใน มหาสารคาม
ในตัวจังหวัดมหาสารคามมีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม รถสองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง รถสามล้อ เครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย
จังหวัดมหาสารคาม มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่โดดเด่นในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต มีกิจกรรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจ คือ การเยี่ยมชมและสักการะพระธาตุนาดูน กู่ นมัสการพระพุทธรูปต่างๆ และเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม เยี่ยมชมและเลือกซื้อหาเครื่องใช้ในราคาถูกที่หมู่บ้านหัตถกรรม พักโฮมสเตย์ เรียนรู้การทำเสื่อกก หรือพักในรีสอร์ตสวย นวดแผนโบราณ และทำสปา เป็นต้น นอก จากนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติ คือ ขี่จักรยานท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจริมบึงบอน อุทยานมัจฉาโขงกุดหวาย และแก่งเลิงจาน ดูปูทูลกระหม่อม หรือปูแป้ง ซึ่งเป็นปูน้ำจืดที่สวยที่สุดในโลกที่พบเฉพาะในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน เท่านั้น และชมทิวทัศน์ ดูนก เดินป่าศึกษาธรรมชาติและชมพรรณไม้ ที่วนอุทยานชีหลง |
ประเพณีบุญเบิกฟ้า เป็นประเพณีของชาวมหาสารคามที่ประกอบขึ้น ตามความเชื่อว่า เมื่อถึงวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกๆ ปี ฟ้าจะเริ่มไขประตูฝน โดยจะมีเสียงฟ้าร้อง และทิศที่ ฟ้าร้อง เป็นสัญญาณบ่งบอกตัวกำหนดปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาหล่อเลี้ยงการเกษตรในปีนั้นๆ เป็นงานเฉลิมฉลองในช่วงต้นฤดูการทำนา เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของอีสาน ใน งานจัดให้มีขบวนแห่บุญเบิกฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระแม่โพสพ เรื่องของพานบายศรีสู่ขวัญ ตลอดจนวัฒนธรรม การละเล่น ดนตรีพื้นบ้าน และพิธีกรรมต่างๆ
งานนมัสการพระธาตุนาดูน พระธาตุนาดูน หรือ พุทธมณฑลอีสาน เป็นสถานที่ที่ค้นพบ หลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่แสดงว่า บริเวณแห่งนี้ เคยเป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรื่อง ของ นครจำปาศรี เมืองโบราณในอดีต อีกทั้งได้ขุดพบสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ บรรจุใน ตลับทองคำ เงิน และสำริด ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 13–15 สมัยทวาราวดี จึงได้สร้างพระธาตุตามแบบสถูปที่ได้ค้นพบ และทุกปีก็จะมีการจัดงานนมัสการพระธาตุนาดูน อำเภอนาดูน จัดงานในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือวันมาฆบูชา ของทุกปี
ภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นองค์ความที่ได้รับการสั่งสม ถ่ายทอด และพัฒนา มาจาก ประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถของปู่ ย่า ตา ยาย ที่สามารถนำสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา มาทำ ให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีพ และความรู้และวิธีการต่างๆ ที่มีคุณค่าเหล่านั้น ได้ถ่ายทอดมาให้ ลูกหลานในวันนี้ ในจังหวัดมหาสารคามมีภูมิปัญญาหลายอย่างเช่น การทอผ้า การทอเสื่อ การผลิต เครื่องดนตรีพื้นบ้าน การจักสาน การปั้นหม้อดินเผา การทำเครื่องเบญจรงค์ การประดิษฐ์เครื่อง ประดับ การเจียระไนพลอย และการทำขนมจีน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น