สุรินทร์เป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานจังหวัดหนึ่ง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อน ในยุคขอมเรืองอำนาจในภูมิภาคนี้ ต่อมาเมื่ออาณาจักรขอมเสื่อมอำนาจลง เมืองดังกล่าวก็ถูกทิ้งร้างไปเป็นเวลานาน
ในปี พ.ศ. 2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ "เมืองประทายสมันต์" เป็น "เมืองสุรินทร์" ตามสร้อยบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองในขณะนั้น เมืองสุรินทร์มีเจ้าเมืองปกครองสืบเชื้อสายกันมารวม 11 คน จนถึงปี พ.ศ. 2451 มีการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารราชการแผ่นดินเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล "เมืองสุรินทร์" จึงเปลี่ยนเป็น "จังหวัดสุรินทร์" และทางกรุงเทพฯ ได้แต่งตั้งพระกรุงศรีบุรีรักษ์ (สุม สุมานนท์) มาดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนแรก
ปัจจุบัน จังหวัดสุรินทร์แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 13 อำเภอ 4 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม อำเภอจอมพระ อำเภอปราสาท อำเภอกาบเชิง อำเภอรัตนบุรี อำเภอสนม อำเภอศีขรภูมิ อำเภอสังขะ อำเภอลำดวน อำเภอสำโรงทาบ อำเภอบัวเชด กิ่งอำเภอพนมดงรัก กิ่งอำเภอศรีณรงค์ กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ และกิ่งอำเภอโนนนารายณ์
การเดินทางไปจังหวัดสุรินทร์
สุรินทร์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 457 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดสุรินทร์ได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง และรถไฟ
- โดยรถไฟ:
การรถไฟแห่งประเทศไทยมีบริการรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) และสถานีรถไฟธนบุรี ไปยังจังหวัดสุรินทร์ทุกวัน ทั้งรถธรรมดา รถเร็ว รถด่วน และรถด่วนพิเศษ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6-8 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690 หรือ www.railway.co.th - โดยรถยนตร์:
จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 2 เส้นทาง คือ- ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ไปจนถึงจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นแยกใช้ทางหลวงหมายเลข 226 ผ่านจังหวัดบุรีรัมย์ ถึงจังหวัดสุรินทร์ รวมระยะทางประมาณ 434 กิโลเมตร
- ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ไปจนถึงอำเภอสีคิ้ว แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ผ่านอำเภอโชคชัย อำเภอนางรอง อำเภอประโคนชัย แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 214 ที่อำเภอปราสาท ขับต่อไปจนถึงจังหวัดสุรินทร์ รวมระยะทางประมาณ 450 กิโลเมตร
- โดยรถประจำทาง:
มีรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-สุรินทร์ ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th
ในตัวจังหวัดสุรินทร์มีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม รถสองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง รถสามล้อ เครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทาง และแบบเหมาจ่าย
เทศกาลงานประเพณีและวัฒนธรรม
จังหวัดสุรินทร์ มีประชากรร้อยละ 93 อาศัยอยู่ในเขตชนบท มีภาษาพูดพื้นเมือง ที่แตกต่างกัน เป็น 3 กลุ่ม คือ
- กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่พูดภาษาเขมร ส่วนใหญ่อาศัยอยู่แถบอำเภอเมือง ปราสาท กาบเชิง สังขะ บัวเชด จอมพระ ศีขรภูมิ ท่าตูม ชุมพลบุรี ลำดวน
- กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่พูดภาษาส่วย อาศัยอยู่ในแถบอำเภอสำโรงทาบ ท่าตูม สนม จอมพระ ศีขรภูมิ รัตนบุรี และกระจายอยู่ตามอำเภออื่นๆ อีกเล็กน้อย
- กลุ่มที่สามเป็นกลุ่มที่พูดภาษาพื้นเมืองอีสาน (ลาว) อาศัยอยู่แถบอำเภอสนม รัตนบุรี ท่าตูม ชุมพลบุรี และศีขรภูมิ
ประเพณีการเซ่นผีปะกำ ชนชาวส่วยหรือกูย มีความยึดมั่น และเคร่งครัดในประเพณี เป็นอย่างมาก มีความเชื่อเรื่องของผีสางเทวดา ไม่ลบหลู่สิ่งที่ตนเองเคารพบูชา ซึ่งในแต่ละ ครอบครัวจะมีผีซึ่งตนเองเคารพอยู่ประจำ ที่เราเรียกว่า "ผีปะกำ" การเซ่นผีปะกำ จะกระทำ ก็ต่อเมื่อมีการไปคล้อช้าง พิธีแต่งงาน หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่คนในครอบครัวจัดให้มีขึ้น เพราะมี ความเชื่อว่า ถ้าไม่ได้เซ่นผีปะกำของตนเองแล้ว จะมักให้มีอุปสรรคต่างๆ มากมาย แต่ถ้าได้เซ่น ผีปะกำถูกต้องตามประเพณีแล้ว จะทำให้ชีวิตมีแต่ความสงบสุข และการกิจกรรมดังกล่าว จะสำเร็จ ลุล่วงไปด้วยดี
เทศกาลงานช้างสุรินทร์ เนื่องจากจังหวัดสุรินทร์ เป็นถิ่นฐานของชาวไทยเชื้อสายกูย เป็น ชนเผ่าที่เชี่ยวชาญการจับช้าง เลี้ยงช้าง และฝึกช้างมาแต่อดีตกาล แม้วันนี้การคล้องช้างป่าจะยุติ ไปแล้ว แต่พวกเขายังเลี้ยงช้างไว้ดั่งสัตว์เลี้ยงของครอบครัว ชาวสุรินทร์ได้เคยทำชื่อเสียงให้แก่ ประเทศไทยมาแล้ว และเมื่อ "การแสดงของช้าง" ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2503 นั้น ทำให้นามของจังหวัดสุรินทร์เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและชาวต่างประเทศ
งานช้างสุรินทร์ จัดขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน ในงานจะมี การแสดงต่างๆ ของช้าง เช่น ช้างเล่นฟุตบอล ช้างเต้นระบำ ขบวนพาเหรดของช้าง ขบวนช้างศึก เป็นต้น
ประเพณีบุญวันสารท (แซนโดนตา) เป็นการทำบุญเพื่อรำลึกถึงผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไป แล้ว และเพื่อแสดงความกตัญญูต่อผู้หลักผู้ใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งมีขึ้นในช่วงวันขึ้น 14–15 ค่ำ เดือน 10 เป็นประเพณีหนึ่งที่มีความสำคัญ ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างช้านานของชนเผ่าเขมร เป็นการ แสดงออก ถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ สะท้อนให้เห็นถึงความรักความกตัญญูของสมาชิกใน ครอบครัว โดนตา หมายถึง การทำบุญให้ยาย และตา หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
กิจกรรมการท่องเที่ยวสุรินทร์
จังหวัดสุรินทร์มีทรัพยากรในด้านการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ มีกิจกรรมท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต โดยมีกิจกรรมที่โดดเด่น คือ เที่ยวชมปราสาทขอมโบราณและโบราณสถานต่างๆ เที่ยวหมู่บ้านช้าง ชมการแสดงน่ารักๆ ของช้างแสนรู้ ลองนั่งช้าง เรียนรู้การฝึกบังคับช้างและการเลี้ยงช้าง อุ้มช้างอาบน้ำ ชมศูนย์คชศึกษา ศึกษาเรื่องราววิถีชีวิตความผูกพันระหว่างคนกับช้าง ชมสุสานช้างที่วัดป่ากวยอาเจียง ชมพิพิธภัณฑ์ครูบาใหญ่ เยี่ยมชมหมู่บ้านหัตถกรรมและเลือกซื้อสินค้าหัตถกรรมเป็นของฝาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น