เมืองหญิงกล้า ผ้าไหมดี หมี่โคราช ปราสาทหิน ดินด่านเกวียน จังหวัดนครราชสีมา หรือที่เรียกกันว่า "โคราช" เป็นเมืองใหญ่บนดินแดนที่ราบสูง ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร และสิ่งอำนวยความสะดวกทุกรูปแบบ ผู้มาเยือนจะได้เพลิดเพลินกับธรรมชาติที่งดงาม จนได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก สนุกสนานไปกับกิจกรรมท่องเที่ยวที่หลากหลาย ได้ชื่นชมความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมขอมโบราณ เรียนรู้วัฒนธรรมพื้นบ้าน ได้ความรู้ด้านการเกษตร จากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทั้งยังได้อิ่มอร่อยกับอาหารอีสานต้นตำรับ และเลือกซื้อหาสินค้าเกษตรและหัตถกรรมพื้นบ้าน ในดินแดนที่เปรียบเสมือนเป็นประตูสู่ภาคอีสานแห่งนี้ ด้วยทำเลที่ตั้งที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก มีการคมนาคมที่สะดวกสบาย จังหวัดนครราชสีมา จึงเป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวพักผ่อนวันหยุด ที่เป็นที่นิยมอันดับต้นๆ แห่งหนึ่งของชาวเมืองหลวง และจังหวัดใกล้เคียงในปัจจุบัน |
ต่อมาในสมัยขอมเรืองอำนาจ มีการสร้างเมืองโคราฆะปุระ หรือเมืองโคราช ขึ้นในบริเวณใกล้เคียง และมีเมืองพิมายเป็นเมืองใต้ปกครองที่สำคัญ จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองขึ้นใหม่ โดยเอาชื่อเมืองเสมากับเมืองโคราฆะปุระมาผูกกันเป็นนามเมืองใหม่ เรียกว่า "เมืองนครราชสีมา" แต่คนทั่วไปนิยมเรียกกันว่า "เมืองโคราช"
โคราชมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ จนมีฐานะเป็นเมืองเจ้าพระยามหานคร และเมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ได้ก่อการกบฏ ยกกองทัพมาตีเมืองนครราชสีมาและกวาดต้อนพลเมืองกลับไปเป็นเชลย คุณหญิงโม ภริยาปลัดเมืองนครราชสีมาในขณะนั้น ได้คิดอุบายแสร้งทำกลัวและประจบเอาใจทหารลาว จนกระทั่ง เมื่อขบวนเชลยถูกกวาดต้อนมาหยุดพักที่ทุ่งสัมฤทธิ์ ในเขตอำเภอพิมาย เมื่อสบโอกาส คุณหญิงโมก็นำทัพชาวเมืองโจมตีกองทหารเวียงจันทน์จนแตกพ่ายไป วีรกรรมอันหาญกล้าของคุณหญิงโมในครั้งนี้ เป็นที่เลื่องลือและสรรเสริญไปทั่ว ต่อมารัชกาลที่ 3 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาฐานันดรศักดิ์ให้คุณหญิงโมเป็น "ท้าวสุรนารี"
โคราชมีความเจริญรุ่งเรืองต่อมาจนกลายเป็นชุมทางการค้าที่สำคัญระหว่างภาค ตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคกลาง จนในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งมณฑลนครราชสีมาขึ้นเป็นมณฑลแรกของประเทศ เพื่อควบคุมดูแลหัวเมืองในบริเวณใกล้เคียง
จังหวัดนครราชสีมาแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 32 อำเภอ ได้แก่
|
|
- โดยรถไฟ :
การรถไฟแห่งประเทศไทยมีบริการรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปยังจังหวัดนครราชสีมาทุกวัน ทั้งรถธรรมดา รถเร็ว รถด่วน และรถด่วนพิเศษ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4-5 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690 เว็บไซต์ www.railway.co.th - โดยรถยนตร์ :
จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 3 เส้นทาง คือ- ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 107 แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ไปจนถึงจังหวัดนครราชสีมา เป็นเส้นทางที่นิยมที่สุด
- ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านเขตมีนบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอพนมสารคาม กบินทร์บุรี วังน้ำเขียว ปักธงชัย ไปจนถึงจังหวัดนครราชสีมา รวมระยะทางประมาณ 273 กิโลเมตร
- ใช้ทางหลวงหมายเลข 305 (รังสิต-นครนายก) จนถึงจังหวัดนครนายก แยกใช้ทางหลวงหมายเลข 33 ไปจนถึงอำเภอกบินทร์บุรี แล้วแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านวังน้ำเขียว ปักธงชัย ไปจนถึงจังหวัดนครราชสีมา
- โดยรถประจำทาง :
มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th
ในตัวจังหวัดนครราชสีมามีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม
- รถแท็กซี่มิเตอร์ มีจุดจอดอยู่ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 2 และศูนย์การค้าเดอะมอลล์นครราชสีมา
- รถสองแถว มีวิ่งบริการภายในเขตเทศบาลและบริเวณใกล้เคียง รวมถึงไปยังอำเภอต่างๆ หลายสาย นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง
- รถสามล้อเครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย
จังหวัดนครราชสีมามีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีชื่อเสียงมากมายและหลากหลาย รูปแบบ ในด้านของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมประเพณี มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เช่น อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ปรางค์กู่ ปรางค์สีดา ปราสาทพะโค ปราสาทพนมวัน ปราสาทนางรำ ประตูชุมพล อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อนุสรณ์สถานนางสาวบุญเหลือ อนุสรณ์สถานวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท โบราณสถานเมืองเสมา เมืองโบราณที่ตำบลโคราช หรือเมืองโคราชเก่า แหล่งหินตัดสีคิ้ว วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม วัดบ้านไร่ วัดโนนกุ่ม วัดธรรมจักรเสมาราม วัดเขาจันทน์งาม วัดหน้าพระธาตุ (วัดตะคุ) ศาลหลักเมือง และศูนย์ศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเชิงนิเวศอีกหลายแห่ง เช่น หมู่บ้านทำเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ (เขาแผงม้า) หมู่บ้านปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านหลุ่งประดู่สามัคคี กลุ่มอาชีพการเกษตรผสมผสานบ้านหนุก โครงการสวนปู่ย่าน่าอยู่ บ้านสวนหอม และศูนย์หัตถกรรมลานด่านเกวียน รวมทั้งมีแหล่งท่องเที่ยวประเภทอื่นๆ อีก เช่น ฟาร์มโชคชัย สวนสัตว์นครราชสีมา ทองสมบูรณ์คลับ ไร่องุ่นและสวนไม้ดอกไม้ประดับแห่งต่างๆ ตลาดกลางไม้ดอกไม้ประดับโคกกรวด และตลาดผลไม้กลางดง
เทศกาลและงานประเพณีจังหวัดนครราชสีมา
จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย แต่ไทยโคราชเป็นกลุ่มชาติ พันธุ์กลุ่มใหญ่ ที่มีวัฒนธรรมโคราช ได้แก่ มีเพลงพื้นบ้านที่เรียกว่า "เพลงโคราช" ใช้ดนตรี พื้นบ้าน คือ มโหรีโคราช และที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญคือใช้ภาษาโคราชในชีวิตประจำวัน ไม่มี หลักฐานบ่งบอกว่า กลุ่มชาติพันธุ์โคราชมาจากที่ใด แต่มีหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับชุมชน โบราณ บริเวณจังหวัดนครราชสีมาจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์นี้ นอกจากจะอยู่ที่จังหวัด นครราชสีมาแล้ว ยังมีอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ ชัยภูมิ และบางส่วนของจังหวัดลพบุรี บางครั้งอาจ เรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้ว่า ไทยเบิ้ง
วิถีชีวิตและภาษา กลุ่มชาติพันธุ์โคราชมีวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายเหมือนชาวชนบททั่วไป คือ อยู่บ้านใต้ถุนสูงแบบบ้านโคราช ซึ่งเป็นเรือนสามระดับ ใกล้ๆ บ้านปลูกพืชผักสวนครัว ซึ่งอาจมี ทั้งอาหารและยา ใช้ผ้านุ่งโจงกระเบนซึ่งเป็น ผ้าไหมเรียกว่า ไหมหางกระรอก ซึ่งเป็นผ้าทอ ที่เส้นพุ่งเป็นไหมควบสองเส้นทำให้ทอแล้วเกิดเป็นลูกลาย เหมือนหางกระรอก
วัฒนธรรมที่สำคัญ คือ ภาษาโคราช ซึ่งมีวงศัพท์ เสียง และสำนวนของตัวเอง เช่น จ่น แปลว่า ไม่ว่างเลย เช่น วันนี้จ่นมาก จื้น แปลว่า จืดชืด หรือ เซ็ง เช่น ส้มตำนี้จื้นแล้ว เซาะเยาะ แปลว่า ผอมโซ ไม่มีเรี่ยวแรง นอกจากนี้อาจเพี้ยนเสียงวรรณยุกต์คำในภาษาไทยกลาง ได้แก่ เพี้ยนเสียงเอกเป็นเสียงตรี เช่น กัด เป็น กั๊ด ดัด เป็น ดั๊ด เพี้ยนเสียงสามัญเป็นเสียงจัตวา เช่น ปลา เป็น ปล๋า กา เป็น ก๋า เกี่ยวกับสำนวนภาษาโคราชมีสำนวนมากมายที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น คำเรียกขวัญ ดังตัวอย่างเล็กน้อยดังนี้ "ขวัญอีนางเอยมา??กู๊? ขอให่มาเข่าโครงอย่าได้หลาบ ขอให่ มาเข่าคราบอย่าได้ถอย สิบปีอย่าไปอื่น หมื่นปีอย่าไปไกล ขอให่มาอยู่ซุมพ่อซุมแม่ ซุมพี่ซุมน่อง ให่มาอยู่เรือนใหญ่ หัวกะไดสูง.." หมายความว่า ขวัญลูกเอยจงมาเถิดขอให้มาอยู่กับร่างกาย สิบปี หมื่นปีอย่าได้ไปไหน ขอให้อยู่กับพ่อ แม่พี่น้อง บนเรือนหลังใหญ่บันไดสูง ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ โคราชมีความภาคภูมิใจในความเป็นคนโคราช ร่วมกันสร้างสรรค์สังคม รักษา และสืบทอด วัฒนธรรมโคราช ให้คงอยู่
ชาวโคราชแต่งกายแบบไทย นั่นคือ ชายนุ่งผ้าโจงกระเบน เสื้อคอกลมไม่ผ่าอก ส่วนสตรี นุ่งผ้าโจงกระเบนเช่นเดียวกัน ไม่นิยมนุ่งผ้าซิ่น ในสมัยอดีตสวมเสื้อแขนกระบอก ห่มสไบทับเสื้อ ถ้าอยู่กับบ้านจะใช้ผ้าผืนเดียวคาดอก
ชาวโคราชทั้งในจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ นิยมรับประทานข้าวจ้าว อาหาร หลักคือ น้ำพริก อาจจะมีเครื่องจิ้มแบบลาวบ้าง กับผักเท่าที่หาได้ อาหารพิเศษอื่นๆ คล้ายกับอาหาร ไทยภาคกลาง
งานฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี ชื่อ งานฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี ช่วง เวลาระหว่างวันที่ ๒๓ มีนาคม - ๓ เมษายน ของทุกปี ความสำคัญ เป็นงานประจำปีของจังหวัด ซึ่งเริ่มขึ้นในวันที่ ๒๓ มีนาคมของทุกปี ซึ่งถือเป็นเวลาที่ ท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม) ได้รับ ชัยชนะจากข้าศึก เพราะวันที่ ๒๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๖๙ คือวันที่เจ้าอนุวงศ์ยกทัพ ออกจาก เมืองนครราชสีมา จึงเป็นงานประเพณีทำให้ระลึกถึงความกล้าหาญในวีรกรรมครั้งนั้น
นอกจากนี้ในงานยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรม เพลงโคราช การออกร้าน จัดนิทรรศการ ของหน่วยราชการและภาคเอกชน รวมทั้ง กิจกรรมบันเทิงที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละวัน จำหน่ายสินค้าพื้นเมือง ซึ่งเมื่อเอ่ยถึงของฝากจากเมืองโคราชต้องนึกถึง ผ้าไหม เครื่องปั้นดินเผา เส้นหมีโคราช เทียนหอม ดอกไม้ประดิษฐ์จากดินหอม อาหาร/ขนม
นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยสีสันหลากหลาย ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และแหล่งธรรมชาติ อีกทั้งผู้คนในท้องถิ่นก็ยังคงรักษาขนบธรรมเนียม และประเพณีดั้งเดิมอันงดงามไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ตลอดทั้งปีจึงมีการจัดงานเทศกาลเฉลิมฉลองและงานประเพณีที่สำคัญ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศหลายงาน โดยมีงานเด่นดังประจำปีที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด คือ งานฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี งานประเพณีแข่งเรือพิมาย งานเทศกาลเที่ยวพิมาย งานประเพณีแห่เทียนพิมาย งานน้อยหน่าและของดีเมืองปากช่อง เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น