ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2557

Nakhon Phanom : นครพนม

Nakhon Phanom : นครพนม


พระธาตุพนมล้ำค่า วัฒนธรรมหลากหลาย เรณูภูไท เรือไฟโสภา งามตาสองฝั่งโขง"
นครพนม เมืองนครแห่งอีสาน ดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขงแถบนี้ เดิมทีเป็นที่ตั้งของอาณาจักรศรีโคตรบูร ตัวเมืองตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของลำน้ำโขง (ฝั่งลาว) บริเวณทางใต้ปากเซบั้งไฟ ตรงข้ามกับพระธาตุพนมในปัจจุบัน ตามประวัติเล่ากันว่า เมื่อพญานันทเสนผู้ครองศรีโคตรบูรสวรรคต เสนาอำมาตย์และประชาชนต่างก็เห็นว่า บ้านเมืองเกิดเภทภัยหลายครั้ง ควรที่จะย้ายไปสร้างเมืองใหม่อยู่ตรงข้ามกัน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีป่าไม้รวกขึ้นอยู่เป็นดง จึงได้เรียกชื่อเมืองใหม่นี้ว่า "มรุกขนคร" หมายถึงเมืองที่อยู่ในดงไม้รวก มรุกขนครในสมัยพญาสุมิตรธรรมเมื่อ พ.ศ. 500 นั้นรุ่งเรืองมาก มีเมืองขึ้นมากมาย และมีการบูรณะพระธาตุพนมขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย โดยการก่อพระลานอูบมุงชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 แล้วสร้างกำแแพงล้อมรอบ มีงานสมโภชใหญ่โต หลังจากพญา สุมิตรธรรม

แล้วก็มีผู้ครองนครต่อมาอีก 2 พระองค์ แต่ก็เกิดมีเหตุอาเพศแก่อาณาจักรศรีโคตรบูรจนกลายเป็นเมืองร้าง กระทั่งถึง พ.ศ. 1800 เจ้าศรีโคตรบูรได้สร้างเมืองมรุกขนครขึ้นใหม่ใต้เมืองท่าแขก บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ในพ.ศ. 2057 ผู้ครองเมืองมรุกขนครคือ พระเจ้านครหลวงพิชิตทศพิศ ราชธานีศรีโคตรบูรหลวง ได้เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่กลายเป็น "เมืองศรีโคตรบูร" ตรงตามชื่ออาณาจักรดั้งเดิม ในยุคสมัยนี้ยังได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมอีกด้วย ต่อมา พ.ศ. 2280 พระธรรมราชา เจ้าเมืองศรีโคตรบูรองค์สุดท้าย ได้ย้ายเมืองมาตั้งบนฝั่งขวา (ฝั่งไทย) เยื้องเมืองเก่าขึ้นไปทางเหนือ แล้วให้ชื่อว่า "เมืองนคร" ซึ่งก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะมีการโยกย้ายอีกหลายครั้ง ดังเช่น พ.ศ.2321 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก็ได้มีการย้ายเมืองอีกครั้ง ไปตั้งที่บ้านหนองจันทร์ ห่างขึ้นไปทางทิศเหนือ 52 กิโลเมตร
จนถึงสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ. 2333 เมื่อผู้ครองเมืองนครถึงแก่พิราลัย เมืองนครก็ได้ขอขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร รัชกาลที่ 1 พระราชทานนามให้ใหม่ว่า "นครพนม" ชื่อนครพนมนั้นมีข้อสันนิษฐานว่า เคยเป็นเมืองลูกหลวงมาก่อน และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์จึงได้ใช้คำว่า "นคร" ส่วนคำว่า "พนม" ก็มาจากพระธาตุพนมปูชนียสถานที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน บ้างก็ว่า มรุกขนครเดิมที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีภูเขาสลับซับซ้อนจึงนำคำว่า "พนม" ซึ่งแปลว่าภูเขามาใช้ ส่วนคำว่า "นคร" ก็เป็นการดำรงชื่อเมืองไว้ คือ เมืองมรุกขนคร นครพนมจึงหมายถึง "เมืองแห่งภูเขา" นั่นเอง



คลิกดูแผนที่ใหญ่  อาณาเขต
ทิศตะวันตกติดต่อกับอำเภอกุสุมาลย์ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับแขวงคำม่วนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดน
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอดงหลวง กิ่งอำเภอหว้าน ใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร
ทิศเหนือติดต่อกับอำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย

 ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอต่างๆ
อำเภอเมือง--   กิโลเมตร
อำเภอท่าอุเทน26   กิโลเมตร
อำเภอปลาปาก44   กิโลเมตร
อำเภอโพนสวรรค์45   กิโลเมตร
อำเภอเรณูนคร51   กิโลเมตร
อำเภอธาตุพนม52   กิโลเมตร
อำเภอศรีสงคราม67   กิโลเมตร
อำเภอนาแก 78   กิโลเมตร
กิ่งอำเภอวังยาง80   กิโลเมตร
อำเภอนาหว้า 93   กิโลเมตร
อำเภอบ้านแพง93   กิโลเมตร
อำเภอนาทม130   กิโลเมตร


gtประเพณีและเทศกาลน่าสนใจ
  • ประเพณีโส้ทั่งบั้ง
    เป็นประเพณีของพวกโซ่ (โส้) การเต้นโส้ทั่งบั้งนี้เป็นการรำในงานศพ เพื่อที่จะส่งวิญญาณผู้ตายให้ไปสู่สุคติ การเต้นรำมีทั้งชายและหญิง พวกโซ่เป็นชนเผ่าข่าพวกหนึ่ง ลักษณะผิวคล้ำ มีภาษาเป็นของตนเอง ภาษาที่ใช้คล้ายภาษามอญปนเขมร หมู่บ้านชาวโส้นี้ตั้งอยู่ที่บริเวณอำเภอท่าอุเทน อำเภอนาแก และอำเภอศรีสงคราม

  • งานนมัสการพระธาตุพนม
    กำหนดจัดขึ้นในวันขึ้น 10 ค่ำถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีซึ่งถือเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ และสำคัญยิ่งงานหนึ่งของชาวนครพนม และจังหวัดใกล้เคียง เสร็จจากเที่ยวชมงานแล้วแวะที่แก่งกะเบา ชิมหมูหัน เป็นอาหารกลางวันที่น่าลิ้มลอง
  • ประเพณีแสกเต้นสาก
    เป็นประเพณีของชนเผ่าแสกที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านอาจสามารถ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองนครพนมประมาณ 4 กิโลเมตร ประเพณีแสกเต้นสาก เป็นการเต้นบวงสรวงเจ้าที่ จะเต้นการเป็นประจำทุกปี ในเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ การแสกเต้นสากนอกเทศกาล จะต้องทำพิธีขอขมาก่อน ของที่ใช้ ได้แก่ หัวหมู เงิน 20 บาท และเหล้า ซึ่งจะทำพิธีที่ศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน โดยการเสี่ยงทายไม้สี ถ้าได้สีเดียวกันแสดงว่าเจ้าไม่อนุญาต การเต้น "แสกเต้นสาก" ใช้ไม้สีแดงสลับขาวเรียก "สาก" นำด้วยเสียงกลองจังหวะเร็ว ผู้เต้นจะซอยเท้าถี่ๆ ลงไปตามจังหวะการกระทบไม้คล้ายการเต้นลาวกระทบไม้แต่จะเร็วกว่ามาก

  • ประเพณีการแข่งเรือ
    (ส่วงเฮือ) เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน โดยจัดขึ้นระหว่างงานบุญออกพรรษา มีความมุ่งหมายให้ชาวบ้านได้สนุกสนานร่วมกัน ก่อให้เกิดความสามัคคีความเสียสละ และเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง ประชาชนชาวลาวและชาวไทย จัดขึ้นในลำน้ำโขง บริเวณหน้าเขื่อนนครพนม มีระยะทางแข่งขัน 3 กิโลเมตร ในร่องน้ำที่ไหลเชี่ยวยากลำบากมากในการแข่งขัน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าผู้ชนะคือผู้เก่งที่สุดในแถบลุ่มน้ำโขง
  • งานประเพณีไหลเรือไฟนครพนม
    เรือไฟ (เฮือไฟ) จัดขึ้นในวันออกพรรษา คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ริมแม่น้ำโขงบริเวณเขตเทศบาล การไหลเรือไฟถือเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า ในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาจากเทวโลก หลังจากที่พระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ดาวดึงษ์ เพื่อแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดา เมื่อออกพรรษาแล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จลงมาสู่มนุษย์โลก โดยบันไดทิพย์ทั้ง 3 วันนี้เรียกว่า "วันพระเจ้าโปรดโลก" พระองค์เสด็จมา ณ เมืองสังกัสสะ สถานที่นั้นเรียกว่า "อจลเจดีย์" (อ่านว่า อะ-จะ-ละ-เจ-ดี) ทวยเทพทั้งหลายส่งเสด็จ มวลมนุษย์ทั้งหลายรับเสด็จด้วยเครื่องสักการะบูชามโหฬาร

    การไหลเรือไฟ ก็คือการสักการะบูชาอย่างหนี่งในวันนั้น และได้ทำเป็นประเพณีสืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังมีตำนานการไหลเรือไฟที่แตกต่างกัน ก็ถือว่าทำให้ได้รับอานิสงฆ์เหมือนกัน เดิมเรือไฟทำด้วยท่อนกล้วย หรือไม้ไผ่ต่อเป็นลำเรือยาวประมาณ 5-6 วา ข้างในบรรจุไว้ด้วยขนม ข้าวต้มมัด หรือสิ่งของที่ต้องการจะบริจาคทาน ข้างนอกเรือมีดอกไม้ ธูป เทียน ตะเกียง ขี้ไต้ สำหรับจุดให้สว่างไสวก่อนจะปล่อยเรือไฟ ปัจจุบันมีการจัดทำเรือไฟเป็นรูปแบบต่างๆ ที่ขนาดใหญ่โตขึ้น มีวิธีการประดับตกแต่งให้วิจิตรตระการตามากยิ่งขึ้น เมื่อปล่อยเรือไฟเหล่านี้ลงกลางลำน้ำโขง ภายหลังการจุดไฟให้ลุกโชติช่วง จะเป็นภาพที่งดงามติดตาติดใจผู้พบเห็นไปตราบนานเท่านาน ไม่มีที่ไหนๆ ในประเทศไทยจะยิ่งใหญ่เหมือนที่จังหวัดนครพนม
  • การฟ้อนผู้ไท
    เป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความสามัคคีในหมู่คณะเดียวกัน โดยจะฟ้อนในงานเทศกาลเดือน 5 และเดือน 6 สมัยก่อนจะฟ้อนกันตามความถนัด และความสามารถแต่ละบุคคล ไม่ได้เน้นความเป็นระเบียบ หรือความพร้อมเพรียงกัน แต่เน้นลีลาการฟ้อนรำของชายหญิงคู่กัน ยึดการรำแบบดั้งเดิมเป็นหลัก นับเป็นศิลปะที่สวยงามหาชมได้ยาก ในปัจจุบัน นอกจากนี้ชาวผู้ไทยยังมีการต้อนรับด้วยการบายศรีสู่ขวัญ การเลี้ยงอาหารแบบพาแลง การชวนดูดอุ
    การฟ้อนผู้ไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น