|
|
ประเพณีเทศกาลและแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจ
- งานเทศกาลดอกลำดวน
จัดขึ้นเป็นประจำระหว่างวันที่ 15–17 มีนาคมของทุกปี ณ สวนสมเด็จศรีนครินทร์ เป็นช่วงที่ดอกลำดวนในสวนกำลังบาน ภายในงานประกอบด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านสี่เผ่า คือ เขมร ส่วย ลาว เยอ การออกร้านจำหน่ายสินค้าหัตถกรรม สินค้าพื้นเมือง การแสดงละครประกอบแสงเสียงตำนานการสร้างเมือง - งานเทศกาลเงาะทุเรียนศรีสะเกษ
จัดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอกันทรลักษ์ หรืออำเภอขุนหาญ โดยจะจัดสลับกันแห่งละปี ภายในจะมีกิจกรรมมากมาย เช่น การออกร้านจำหน่ายพืชผักผลไม้ศรีสะเกษนานาชนิด เช่น เงาะ ทุเรียน ลองกอง มังคุด สะตอ ยางพารา เป็นต้น การจัดขบวนแห่รถประดับด้วยผลไม้ การจัดนิทรรศการทางวิชาการ และการจัดกิจกรรมคาราวานชมสวนชิมผลไม้ศรีสะเกษ - การแข่งขันวิ่งฮาล์ฟและควอเตอร์มาราธอนสู่ผามออีแดง
จัดขึ้นในวันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนสิงหาคมของทุกปี บนเส้นทางขึ้นสู่เขาพระวิหาร ระหว่างหมู่บ้านภูมิซรอล-ผามออีแดง อำเภอกันทรลักษ์ เนื่องจากเป็นเส้นทางขึ้นเขาสู่ชายแดนที่ต้องวิ่งฝ่าสายหมอกในช่วงปลายฤดูฝน จึงนับเป็นเส้นทางที่ท้าทายและเป็นสนามประลองกำลังที่นักกีฬาวิ่งมาราธอนให้ความสนใจมากอีกแห่งหนึ่ง
พระธาตุเรืองรอง ตั้งอยู่ที่บ้านสร้างเรือง ตำบลหญ้าปล้อง ห่างจากเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 2373 สายศรีสะเกษ-ยางชุมน้อย ประมาณ 7.5 กิโลเมตร เป็นพระธาตุที่สร้างขึ้นโดยผสมศิลปอีสานใต้สี่เผ่าไทย ได้แก่ ลาว ส่วย เขมร เยอ มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์อย่างลงตัว พระธาตุมีความสูง 49 เมตร แบ่งออกเป็น 6 ชั้น ชั้นที่ 1 ใช้สำหรับประกอบพิธีทางศาสนา ชั้นที่ 2-3 เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านสี่เผ่าไทย ชั้นที่ 4 เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ ชั้นที่ 5 ใช้สำหรับการทำสมาธิ และชั้นที่ 6 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและเป็นที่ชมทัศนียภาพของพื้นที่โดยรอบ |
สวนสมเด็จศรีนครินทร์ ตั้งอยู่ในวิทยาลัยเกษตรกรรม จังหวัดศรีสะเกษ ถนนกสิกรรม ตำบลหนองครก ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 2 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 237 ไร่ ลักษณะเป็นสวนป่าในเขตเมือง มีต้นลำดวนขึ้นอยู่หนาแน่นเป็นดงใหญ่จำนวนกว่าสี่หมื่นต้น เหมาะแก่การทัศนศึกษาในเชิงพฤกษศาสตร์ ต้นลำดวนซึ่งเป็นพันธุ์ไม้หอมนี้จะผลิดอกหอมอบอวลไปทั่วในราวเดือนมีนาคมของทุกปี และเนื่องจากต้นไม้ชนิดนี้มีความเกี่ยวพันกับชื่อ ศรีนครลำดวน ในอดีด จึงได้นำเอาต้นลำดวนมาเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีสวนสัตว์ และสวนสาธารณะตกแต่งสวยงามร่มรื่นเป็นแหล่งพักผ่อนของประชาชนทั่วไป มีบึงน้ำสำหรับพายเรือเล่นและพักผ่อนหย่อนใจ |
ปราสาทเขาพระวิหาร ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรักในเขตประเทศกัมพูชาบริเวณที่ติดกับผามออีแดงของประเทศไทย โดยตัวปราสาทหันหน้ามายังด้านที่ติดกับประเทศไทย ดังนั้นการเข้าชมปราสาทในทางบกจึงต้องใช้เส้นทางที่ผ่านผามออีแดงของประเทศไทยเท่านั้น ปราสาทเขาพระวิหาร เป็นเทวสถานขนาดใหญ่มีความยาวประมาณ 900 เมตร ประกอบด้วยปราสาท 4 ชั้น แต่ละชั้นตั้งอยู่บนแนวเขาที่เป็นเนินสูงลดหลั่นกันขึ้นไปตามลำดับทั้ง 4 ชั้น ทางเดินระหว่างชั้นของปราสาทได้อาศัยแผ่นศิลาบนผิวพื้นภูเขานั้นเป็นแนวถนน และขั้นบันได โดยตกแต่งให้มีระดับต่อเนื่องกันจนถึงยอดสูงสุดอันเป็นที่ตั้งของปราสาทชั้นที่ 4 ซึ่งเป็นปราสาทองค์ประธานอยู่ชิดกับหน้าผา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 657 เมตร |
ปราสาทเขาพระวิหารแห่งนี้เดิมเคยอยู่ในความปกครองดูแลของไทย และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2483 ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 เป็นต้นมาได้เปลี่ยนไปอยู่ภายใต้การปกครองดูแลของประเทศกัมพูชาสืบมาจนถึงปัจจุบัน
การเข้าชมปราสาทเขาพระวิหาร นักท่องเที่ยวสามารถสามารถเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารที่อยู่ในเขตแดนไทย โดยคนไทยเสียค่าธรรมเนียมการเข้าอุทยานคนละ 20 บาท ชาวต่างประเทศ 200 บาท และค่าผ่านแดนออกนอกประเทศคนละ 5 บาท เมื่อจะเข้าชมปราสาทเขาพระวิหาร กัมพูชาเก็บค่าธรรมเนียมชาวไทยคนละ 50 บาท ชาวต่างประเทศคนละ 200 บาท
อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาพระวิหาร มีเนื้อที่ประมาณ 130 ตารางกิโลเมตรครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัดคือ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และกิ่งอำเภอน้ำขุ่น กับอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานีได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 83 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2541 สภาพภูมิประเทศทั่วไปส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาตามแนวทิวเขาพนมดงรักกั้นชายแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่ปกคลุมด้วยป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมากที่อาศัยหากินข้ามไปมาในผืนป่าระหว่างสองประเทศได้แก่ หมูป่า กวาง เก้ง กระต่าย กระรอก ชะนี ชะมด เป็นต้น ในอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารยังมีแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้ |
ผามออีแดง ผามออีแดง ตั้งอยู่ที่ชายแดนไทย กัมพูชา เป็นหน้าผาหินสีแดงที่มีทัศนียภาพกว้างไกลสุดตา และจากจุดนี้นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นปราสาทเขาพระวิหารได้ นับเป็นจุดชมวิวในมุมสูงที่สวยงามแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ผามออีแดงมีลักษณะเป็นลานหินธรรมชาติ ริมหน้าผาสูงติดกับพื้นที่ประเทศกัมพูชาซึ่งอยู่เบื้องล่าง เป็นจุดชมทัศนียภาพเขาพระวิหาร ในระยะใกล้เพียง 1,000 เมตร บริเวณผามออีแดงมีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก และทางด้านทิศใต้ซึ่งเป็นหน้าผาที่อยู่ต่ำลงไป มีภาพสลักหินนูนต่ำศิลปะเขมร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 สันนิษฐานว่า เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย |
น้ำตกห้วยจันทร์ (น้ำตกกันทรอม) อยู่ห่างจากอำเภอขุนหาญ 24 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัด 85 กิโลเมตร ริมทางหลวงหมายเลข 2236 เส้นทางกันทรอม-บ้านสำโรงเกียรติ เป็นน้ำตกที่สวยงามไหลลดหลั่นมาตามชั้นหิน มีน้ำมากในช่วงเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์ บริเวณร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้ป่านานาชนิด เหมาะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น